นางมัทนา จากวรรณคดีไทย เรื่องมัทนะพาธา
มัทนาเป็นตัวละครที่มีความสำคัญที่สุดในบทละครเรื่องมัทนะพาธานี้
เนื่องจากนางมีบทบาทมากในการเชื่อมโยงตัวละครอื่นๆให้เข้ามามีบทบาทในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจากความรัก
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละครในเรื่องนี้ล้วนแต่ได้รับความเจ็บปวดและเดือดร้อนเพราะความรัก
โดยเฉพาะ นางมัทนาที่มีชื่อมาจากคำว่า มทน ที่มีความหมายว่าความลุ่มหลง
หรือความรัก เป็นตัวละครที่ได้รับความเจ็บปวดและเดือดร้อนจากความรักมากที่สุด
เพราะนางมัทนาเป็นทั้ง “ผู้รัก” และ “ผู้ถูกรัก”
แต่ก็ไม่สมหวังใน “ความรัก” สาเหตุของการที่มัทนาต้องเกี่ยวพันกับความรักมากมายเช่นนี้
เพราะมัทนาเป็นนางฟ้าที่มีรูปโฉมงดงาม จนเทพบุตร สุเทษณ์ติดตาตรึงใจ
และใคร่จะได้นางเป็นชายา แต่มัทนาไม่เคยสนใจสุเทษณ์
เพราะได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะครองคู่กับชายที่ตนรักเท่านั้น
ความตั้งใจของมัทนาดังกล่าวทำให้สุเทษณ์โกรธมากเพราะเขาเฝ้าวิงวอนขอความรักจากนางเป็นเวลานานทั้งๆที่สุเทษณ์ในฐานะของหัวหน้าหรือผู้นำเหล่าเทวดาและนางฟ้าทั้งหลายอาจจะใช้อำนาจบังคับมัทนาก็ย่อมได้
แต่การที่สุเทษณ์อ้อนวอนขอให้มัทนารับรักก็เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเขารักมัทนาอย่างจริงใจ
แต่เมื่อมัทนาปฏิเสธรักเขาโดยไม่มีเยื่อใย
จึงทำให้เขาต้องใช้อำนาจสาปนางให้จุติลงมาเป็นต้นกุหลาบบนโลกมนุษย์
เมื่อมัทนามาเกิดเป็นต้นกุหลาบยังโลกมนุษย์และสามารถกลายร่างเป็นหญิงสาวได้เมื่อถึงคืนวันเพ็ญเป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืน
ทำให้นางได้มีโอกาสพบรักกับท้าวชัยเสน และกลายร่างเป็นมนุษย์โดยไม่ต้องกลับไปเป็นต้นกุหลาบอีก
ชีวิตคู่ของมัทนากับท้าวชัยเสนดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งท้าวชัยเสนพามัทนากลับมายัง
นครหัสตินาปุระ
เมื่อความทราบถึงพระนางจัณฑีผู้เป็นมเหสีของท้าวชัยเสน
พระนางจัณฑีจึงเกิดความโกรธและหึงหวงจึงวางอุบายกำจัดมัทนา
เมื่อท้าวชัยเสนหลงเชื่อกลอุบายที่พระนางจัณฑีใช้เพื่อกำจัดมัทนาแล้วจึงสั่งประหารมัทนาและศุภางค์ทหารคนสนิทของตนเพราะคิดว่าทั้งสองลักลอบเป็นชู้กัน
เหตุการณ์ทุกอย่างจึงเป็นไปตามแผนการของพระนางจัณฑี
แต่ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ประหารมัทนากับศุภางค์นั้นกลับปล่อยตัวทั้งสองคนไป
เพราะทราบว่าทั้งสองไม่ได้มีความผิดและถูกให้ร้าย มัทนากลับสู่ป่าหิมะวัน
และบำเพ็ญเพียรเพื่ออ้อนวอนให้สุเทษณ์ช่วยเหลือ
เมื่อ สุเทษณ์มาถึงก็มาขอความรักจากมัทนาอีก แต่นางปฏิเสธ เมื่อสุเทษณ์ได้ฟังเหตุผลรวมทั้งคำอ้อนวอนให้ สุเทษณ์ช่วยให้นางได้ครองรักกับท้าวชัยเสนอีก
เพราะท้าวชัยเสนเป็นชายเดียวที่นางรักและไม่คิดจะเปลี่ยนใจ
คำขอของนางทำให้สุเทษณ์บันดาลโทษะ จึงได้สาปให้นางเป็นต้นกุหลาบตลอดชั่วนิรันดร
นางโมรา จากวรรณคดีไทย เรื่องจันทโครพ
หลายคนคงรู้จักชื่อของนางในวรรณคดีนางหนึ่งที่ชื่อว่า "โมรา" เพราะชื่อนี้
นอกจากจะเป็นชื่อของนางในวรรณคดีเรื่อง "จันทโครพ" แล้ว
ยังใช้เป็นคำเรียกผู้หญิงหลายใจ ที่นอกใจสามีตัวเองอีกด้วย เนื่องจาก
เจ้าชายจันทโครพได้ไปศึกษาเล่าเรียน อยู่กับพระฤษีตนหนึ่งจนสำเร็จวิชา
อาจารย์เลยให้ผอบทอง ซึ่งมีสาวสวยอยู่ข้างในนั้นคือ นางโมรา
โดยพระฤษีกำชับนักหนาว่า อย่าเพิ่งเปิดผอบระหว่างทาง แต่ความที่อยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น
ทำให้จันทโครพตัดสินใจเปิดออกดู เมื่อเห็นนางโมราก็หลงรักทันที
และได้นางเป็นชายาที่กลางป่านั่นเอง แต่ขณะที่ทั้งคู่เดินทางกลับเมือง
ก็ไปเจอโจรป่าเข้าเลยถูกปล้น โดยโจรหวังจะชิงนางโมราไปด้วย
จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ท้ายที่สุด พระขรรค์หลุดออกไป
จันทโครพตะโกนให้นางส่งพระขรรค์ให้ แต่นางกลับส่งให้โจรเอามาฆ่าจันทโครพตาย ส่วนโจรได้นางโมราไปแล้วก็เกิดไม่แน่ใจ
กลัวถูกทรยศเหมือนจันทโครพ เลยแอบหนีนางไป ทำให้โมราต้องระหกระเหินหิวโหยอยู่ในป่า
พระอินทร์จึงแปลงร่างเป็นเหยี่ยวคาบชิ้นเนื้อมาลองใจ
โดยตกลงว่าเมื่อให้ชิ้นเนื้อแล้ว นางต้องมาเป็นภรรยา
นางโมราก็มิได้ขัดขืนแต่อย่างใด พระอินทร์เห็นเช่นนั้นก็โกรธว่า เป็นหญิงมักมากในกามคุณ
โดยไม่เลือกว่าโจรหรือสัตว์ จึงสาป นางให้กลายเป็นชะนี
ส่งเสียงร้องโหยหวนเรียกหาสามีของตน
ในการดำเนินชีวิตของนางโมรานับว่าไม่สุขสบาย
และแตกต่างไปจากนางในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ โดยจันทะโครพเปิดผอบออกมาที่กลางป่า
จึงไม่ได้รับความสุขสบาย
ถึงแม้ว่านางโมราจะเป็นตัวละครหลักของวรรณคดีเรื่องจันทโครพ
แต่ช่วงเวลาในการใช้ชีวิตนอกผอบของนางโมราก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
ซึ่งไม่ได้รับความสุขสบายแต่อย่างใด มีเพียงการดูแลปรนนิบัติ
จากจันทโครพผู้เป็นสามีคนแรกเท่านั้น